ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Pohang ในเกาหลีใต้ได้สร้างอุปกรณ์เก็บเหงื่อซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหนามของกระบองเพชร อุปกรณ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมเหงื่อเพื่อทำการวิเคราะห์ทางชีวการแพทย์ เช่น วัดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยความสามารถในการทำงานโดยไม่ต้องใช้แหล่งพลังงานใดๆ ทำให้แผ่นแปะสามารถเก็บเหงื่อจำนวนเล็กน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีการวิเคราะห์เหงื่อ
การวิเคราะห์เหงื่อถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการวินิจฉัยและติดตามโรคต่างๆ โดยมีแนวคิดพื้นฐานคือแผ่นแปะที่สวมใส่ลงบนผิวหนังเพื่อเก็บเหงื่อแล้วทำการวิเคราะห์ เทคนิคนี้มีข้อดีหลายอย่างในแง่ของการสุ่มตัวอย่างแบบไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายและสามารถเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังล้มเหลวในฐานะเป็นตัวเลือกแทนการเก็บตัวอย่างของเหลวในร่างกายอื่นๆ เช่น เลือดหรือปัสสาวะ
ส่วนหนึ่งของปัญหาในเทคโนโลยีนี้จะอยู่ที่ต้องมีเหงื่อออกมามากเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ ซึ่งการทำให้มีเหงื่อออกมามากพอนั้น อาจจะขอให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเพื่อทำให้เหงื่อออกมามาก เช่น การออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งนี้อาจไม่ค่อยสะดวกนักสำหรับผู้ป่วย ดังนั้นการเพิ่มอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณเหงื่อขึ้นได้อาจช่วยให้เทคโนโลยีนี้ก้าวหน้าจนถึงขั้นเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ไม่เกะกะซึ่งสามารถติดตามโรคได้โดยไมยากเย็นมากนัก
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเหงื่อของแผ่นแปะที่สวมใส่ได้ นักวิจัยชาวเกาหลีจึงหันไปหาแนวคิดทีมาจากธรรมชาติ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนามของกระบองเพชรซึ่งจะดึงน้ำจำนวนเล็กน้อยจากปลายหนามไปที่ลำต้นโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่าความดัน Laplac โดยที่ความแตกต่างของความดันระหว่างหยดน้ำภายในและภายนอกส่งผลให้หยดน้ำเคลื่อนที่ไปตามหนาม
จนถึงตอนนี้ นักวิจัยได้รายงานว่าเทคโนโลยีสามารถเก็บเหงื่อได้เร็วกว่าอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ของไหลจุลภาค (microfluidic) ทั่วไป ซึ่งอาจช่วยให้ตรวจสอบเหงื่อได้อย่างต่อเนื่อง