4 ผู้อำนวยการจาก 4 โรงพยาบาล ร่วมกันแชร์ประสบการณ์ พัฒนาโรงพยาบาลสู่ Smart Hospital เผชิญหน้าความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกยุคดิจิทัล
สมาคมนักบริหารสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จัดงานประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุขปี 2564 องค์กรแห่งดิจิทัล ร่วมกับสำนักข่าว Hfocus และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ห้องประชุมสุทธาสิโนบล ชั้น 8 สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ในหัวข้อการเสวนา "ความท้าทายของ Smart Hospital"
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการ รพ.สมุทรสาคร กล่าวว่า สมัยก่อนตอนที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี คนไข้เยอะมาก คิวยาวมาก เพราะโรงพยาบาลใกล้กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นโรงพยาบาลที่แออัด มีคนไข้กว่า 2,000 คนต่อวัน เมื่อคนไข้เยอะก็จะรีบมาเอาคิวตั้งแต่ตอนเช้า พอรับคิวได้ช้าครั้งหน้าคนไข้ก็มาเช้าขึ้น จึงเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาใช้เทคโนโลยีช่วยบอกคิวให้คนไข้รู้คิวล่วงหน้า ไม่ต้องรีบมาตั้งแต่เช้า จากนั้นก็มีการใช้ Line @ MOPH Connect ต่อยอดจากระบบคิวที่ทำภายในโรงพยาบาล มาเป็นการใช้ระบบคิวนัดออนไลน์แบบเหลื่อมเวลา และระบบแจ้งเตือนเพื่อกันลืม ถึงคนไข้อยู่บ้านก็จองคิวได้ เพิ่มความสะดวกให้กับคนไข้มากขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลปทุมธานียังร่วมมือกับองค์กรอื่นอย่าง Pathum Thani TOT Help Call Center ระบบแจ้งเหตุที่นำระบบระบุพิกัดด้วยดาวเทียม เพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดความพิการจากภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือเส้นเลือดสมองตีบ/แตก (Stoke) โดยให้เบอร์โทรศัพท์กับคนไข้กลุ่มเสี่ยง หากเกิดกรณีฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์แจ้งได้ โปรแกรมจะให้ข้อมูลว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคใดบ้าง
ในการดำเนินการของ รพ.สมุทรสาครนั้น นพ.อนุกูล อธิบายว่า มีความแตกต่างจากโรงพยาบาลปทุมธานี ด้วยมีคนไข้แออัดกว่าถึง 3,000 คนต่อวัน ที่ผ่านมา เน้นการทำงานกับผู้ป่วยต่างด้าว และเรื่องโควิด-19 เพราะจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก อาศัยอยู่กันเป็นชุมชน จึงมีการทำ อสต.ออนไลน์ แอปพลิเคชันสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว โดยอบรมทฤษฎีเน้นหนักกลไกป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว มีการเรียนออนไลน์ ทำข้อสอบ ประเมินผลออนไลน์ การรายงานและแจ้งเหตุในเคสที่ต้องสงสัย เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น